ผู้ติดตาม

วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ท่องอบายภูมิ ๔

ท่องอบายภูมิ4


บาป ที่ทำ ไม่สูญหายไปไหน เมื่อตายลงก็จะส่งผลให้เกิดในที่ ๔ แห่งด้วยกัน คือ นรกภูมิ เปรตภูมิ อสุรกายภูมิ และเดรัจฉานภูมิ


๑.ท่องแดนนรกภูมิ
เป็นที่เกิดของคนที่ทำบาป เมื่อตายไปก็ต้องไปเสวยผล ของบาปที่ทำไว้ ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ท่านได้กล่าว ไว้ว่า มี ๘ ขุม เรียกว่า “ มหานรก ๘ ขุม ”

มหานรก ๘ ขุม

สัญชีวนรก
ได้แก่ พวกมหาโจร ปล้นทำลายทรัพย์สิน ผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงผู้ต่ำต้อย เมื่อตายจะไปอยู่ในนรกขุมนี้ นายนิรยบาลจะใช้อาวุธ ที่มีแสงฟาดฟันร่างกาย ขาดออกเป็น ๒ ท่อน ตายแล้วกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ แล้วถูกฟาดฟันให้ตายลงไปเป็นเช่นนี้อีก เรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นกรรม


กาฬสุตตะนรก
ได้แก่ พวกเพชฌฆาต พวกที่ฆ่านักบวช ภิกษุสามเณร ผู้ทุศีล อลัชชี พวกนี้เมื่อตายไป จะไปเสวยทุกข์ในกาฬสุตตะนรก นายนิรยบาลจะใช้เชือกสีดำ ดีดไปที่ร่างกาย แล้วใช้มีด ขวาน หรือเลื่อย ตัด ถาก หรือเลื่อย ตามรอยเชือกที่ดีดไว้ ได้รับความทุกขเวทนาแสนสาหัส


สังฆาตะนรก
ได้แก่ พวกพรานนก พรานเนื้อ หรือพวกที่ชอบทรมานเบียดเบียนสัตว์ ที่ตนใช้ประโยชน์ เช่น วัวควาย โดยขาดความเมตตาสงสาร บุคคลเหล่านี้เมื่อตายไปแล้ว ก็จะไปเสวยทุกข์ในสังฆาตะนรก ซึ่งจะถูกภูเขาเหล็ก ที่มีเปลวไฟลุกโพลง เคลื่อนมาบดทับขยี้ร่างกาย จนแหลกละเอียดเป็นจุณไป


โรรุวะนรก
ได้แก่ พวกเมาสุราอาละวาดทำร้ายร่างกาย พวกเผาไม้ทำลายป่า พวกกักขังสัตว์ไว้ฆ่า พวกชาวประมง เมื่อตายย่อมไปเสวยทุกข์ในโรรุวะนรก จะถูกนายนิรยบาล ทรมานด้วยควันไฟ อันร้อนระอุให้เข้าไปสู่ทวารทั้ง ๙ ร้องระงมด้วยความเจ็บปวด ทรมานแสนสาหัส


มหาโรรุวะนรก
ได้แก่ พวกที่ลักเครื่องสักการะบูชา ขโมยทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ครูอาจารย์ หรือภิกษุสามเณร นักบวชต่าง ๆ บุคคลเหล่านี้เมื่อตายแล้ว ย่อมไปเสวยทุกข์ในมหาโรรุวะนรก โดยถูกไฟเผาตามทวารทั้ง ๙ ร้องครวญครางด้วยเสียงอันดัง


ตาปนะนรก
ได้แก่ พวกเผาบ้านเผาเมือง เผาโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ บุคคลเหล่านี้ตายแล้ว ต้องไปเสวยทุกข์ในตาปนะนรก จะถูกนายนิรยบาลให้นั่งตรึงด้วยหลาวเหล็ก อันร้อนแรงและมีไฟลุกท่วมร่างกาย
มหาตาปนะนรก
ได้แก่ พวกมิจฉาทิฏฐิบุคคล เห็นผิดเป็นชอบ ไม่รู้จักของดีมีประโยชน์ ปฏิเสธเรื่องบุญ เรื่องบาป เห็นว่าตายแล้วสูญ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำแต่ทุจริตกรรม บุคคลเหล่านี้ตายแล้ว ย่อมไปเสวยทุกข์ในมหาตาปนะนรก จะถูกนายนิรยบาลไล่ให้ขึ้นไปบนเขาเหล็ก ที่กำลังร้อนแรง เมื่อลื่นตกลงมาเบื้องล่าง ก็จะถูกหลาวเสียบ และมีไฟไหม้ท่วมร่างกายของสัตว์เหล่านั้น



อเวจีมหานรก
ได้แก่ พวกทำบาปหนักที่เป็นอนันตริยกรรม คือ ฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต ทำสังฆเภท คือ ยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน เป็นผู้ทำลายพระพุทธรูป พระพุทธเจดีย์ ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พวกติเตียนพระอริยสงฆ์ บุคคลเหล่านี้เมื่อตายแล้ว ย่อมไปเสวยทุกข์ในอเวจีมหานรก
จะถูกนายนิรยบาลตรึงเสียบด้วยหลาวเหล็ก อันร้อนแรงทั้ง ๔ ด้าน จากซ้ายทะลุขวา หน้าทะลุหลัง ที่ศีรษะและเท้าถูกครอบตรึง ด้วยเหล็กที่ร้อนแรง


อุสสทนรก ๔ ขุม
อุสสทนรก เป็นนรกขุมย่อย ล้อมรอบอยู่ตามประตูมหานรกทั้ง ๔ ทิศ ๆ ละ ๔ ขุม มหานรก ขุมหนึ่งจะมีอุสสทนรก ๑๖ ขุม ดังนั้น มหานรก ๘ ขุม จึงมีอุสสทนรกรวม ๑๒๘ ขุม มีชื่อเหมือนกันทุกประตู ต่างกันที่โทษหนักหรือเบาเท่านั้น มีชื่อดังนี้



คูถะนรก นรกอุจจาระเน่า
ได้แก่ พวกมหาโจร ปล้นทำลายทรัพย์สิน ผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงผู้ต่ำต้อย เมื่อตายจะไปอยู่ในนรกขุมนี้ นายนิรยบาลจะใช้อาวุธ ที่มีแสงฟาดฟันร่างกาย ขาดออกเป็น ๒ ท่อน ตายแล้วกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ แล้วถูกฟาดฟันให้ตายลงไปเป็นเช่นนี้อีก เรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นกรรม


กุกกุละนรก นรกหลุมขี้เถ้า
ได้แก ่พวกเพชฌฆาต พวกที่ฆ่านักบวช ภิกษุสามเณร ผู้ทุศีล อลัชชี พวกนี้เมื่อตายไป จะไปเสวยทุกข์ในกาฬสุตตะนรก นายนิรยบาลจะใช้เชือกสีดำดีดไปที่ร่างกาย แล้วใช้มีด ขวาน หรือเลื่อย ตัด ถาก หรือเลื่อย ตามรอยเชือกที่ดีดไว้ ได้รับความทุกขเวทนาแสนสาหัส



สิมปลิวนะนรก นรกป่างิ้ว
ได้แก่ พวกมหาโจร ปล้นทำลายทรัพย์สิน ผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงผู้ต่ำต้อย เมื่อตายจะไปอยู่ในนรกขุมนี้ นายนิรยบาลจะใช้อาวุธ ที่มีแสงฟาดฟันร่างกาย ขาดออกเป็น ๒ ท่อน ตายแล้วกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ แล้วถูกฟาดฟันให้ตายลงไปเป็นเช่นนี้อีก เรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นกรรม



เวตตรณีนรก นรกน้ำเค็ม
ได้แก่ พวกมหาโจร ปล้นทำลายทรัพย์สิน ผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงผู้ต่ำต้อย เมื่อตายจะไปอยู่ในนรกขุมนี้ นายนิรยบาลจะใช้อาวุธ ที่มีแสงฟาดฟันร่างกาย ขาดออกเป็น 2 ท่อน ตายแล้วกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ แล้วถูกฟาดฟันให้ตายลงไปเป็นเช่นนี้อีก เรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นกรรม



ยมโลกนรก ๑๐ ขุม
ผู้ที่ทำบาปอกุศลกรรมหนัก ๆ ไว้ไปเสวยทุกขเวทนาในมหานรก และอุสสทนรกแล้ว ยังจะต้องเสวยทุกข์ในยมโลกนรกอีก ซึ่งตั้งเรียงรายล้อมรอบอุสสทนรก ๕ ทิศ ทิศละ ๑๐ ขุม ในอุสสทนรกขุมหนึ่ง ๆ จึงมียมโลกนรก ๔๐ ขุม เมื่อรวมยมโลกทั้งหมดที่มีอยู่ในมหานรกทั้ง ๘ ขุม จะรวมได้ทั้งหมด ๓๒๐ ขุม
ยมโลกนรก ๑๐ ขุม มีชื่อดังต่อไปนี้


โลหกุมภีนรก นรกน้ำร้อน
นรกขุมนี้จะมีหม้อเหล็กขนาดใหญ่ ที่มีน้ำร้อนเดือดพล่านอยู่ตลอดเวลา


สิมพลีนรก นรกป่างิ้ว
จะเต็มไปด้วยต้นงิ้ว ที่มีหนามแหลมคมและมีพิษ จะลงโทษชายหญิง ที่ประพฤติผิดในทางเพศ


อสินขนรก นรกที่มีเล็บมือเล็บเท้าที่แหลมคม
โดยจะใช้เล็บมือเล็บเท้าของตนเองนี้ ขุดตะกุยเนื้อหนังของตนกินเป็นอาหาร



ตามโพทกนรก นรกน้ำทองแดง
ในนรกขุมนี้ จะมีหม้อเหล็กขนาดใหญ่ ที่มีน้ำทองแดง เดือดพล่านอยู่




อโยคุฬนรก นรกก้อนเหล็กแดง
ในนรกขุมนี้ จะเต็มไปด้วยก้อนเหล็กแดงอยู่เกลื่อนกลาดทั่วไป สัตว์นรกเห็นเป็นอาหาร ก็บริโภคเข้าไปได้รับความทุกขเวทนา




ปิสสกปัพพตนรก นรกภูเขาใหญ่
ซึ่งตั้งอยู่ ๔ ทิศ จะเคลื่อนเข้ามาหากัน และบดขยี้สัตว์นรก ให้แหลกละเอียดเป็นจุณ




ธุสนรก นรกอดน้ำ
ผู้ที่ตกนรกขุมนี้ จะมีความทุกข์ทรมานจากการหิวกระหายน้ำ




สีตโลสิตนรก นรกน้ำเยือกเย็น
เป็นนรกที่มีน้ำเย็นเป็นที่สุด สัตว์นรกจะต้องตายเพราะความเย็น และเกิดใหม่ทันที ทันทีที่เกิดใหม่ก็จะถูกนายนิรยบาลจับโยนลงไปอีก เป็นอยู่อย่างนี้ชั่วกาลนาน




สุนขนรก สุนัขนรก
จะเต็มไปด้วยสุนัขนรกที่ดุร้าย หิวโหย และกัดกินกันเอง





ยันตปาสาณนรก นรกเขากระทบกัน
ผู้ที่ตกในนรกขุมนี้ จะถูกนายนิรยบาลจับโยนเข้าไป ในระหว่างเขา ๒ ลูก ซึ่งกระทบกันอยู่ตลอดเวลา



โลกันตนรก เป็นนรกขุมใหญ่พิเศษ ซึ่งตั้งอยู่ที่ระหว่างช่องว่างของขอบจักรวาลทั้ง ๓ ที่มาเชื่อมต่อกัน ซึ่งมีแต่ความมืดสนิท สัตว์ที่อุบัติในโลกันตนรกนี้ จะมีร่างกายใหญ่โตมหึมา มีเล็บเท้ายาว ใช้เกาะอยู่ตามขอบเชิงจักรวาล ห้อยโหนตัวอยู่ตลอดกาล เมื่อไปพบพวกเดียวกัน ก็คิดว่าเป็นอาหารจึงไล่ตะปบกัน จนเท้าตกลงมาในน้ำกรดที่เย็นยะเยือก สัตว์นั้นก็จะละลายหายไปเป็นจุณ แล้วอุบัติเกิดขึ้นใหม่ที่ขอบจักรวาลนั้น ห้อยโหนตัวอยู่ไปมา และเมื่อพบกันก็ตะปบกันอีก เป็นเช่นนี้ตลอดกาล

ทำบาปอะไรจึงต้องตกอยู่ในโลกันตนรก
๑. เป็นผู้ประทุษร้ายทรมานบิดามารดา ปราศจากความกตัญญูกตเวที
๒. เป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล คือ ไม่เชื่อบุญบาป ไม่เชื่อนรกสวรรค์ แล้วทำบาปอยู่เป็นเนืองนิจ
๓. ประทุษร้ายต่อผู้ทรงศีล ทรงธรรม หรือกระทำปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นประจำ ทุกวัน

ด้วยอำนาจของกรรมหนักเหล่านี้ จึงชักนำให้ไปเกิดในโลกันตนรก ซึ่งมืดมิดอยู่เป็นนิตย์ตลอดกาลนาน ครั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก จึงมีโอกาสเห็นแสงสว่างขึ้นแวบหนึ่ง ประมาณช่วงฟ้าแลบ หรือช่วงลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น





๒.ท่องแดนเปตร
เปรตภูมิ เป็นที่อยู่ของพวกที่ทำบาปเบากว่า พวกที่ไปเกิดในนรกภูมิ เพราะนรกเป็นเรื่องการถูกทรมาน ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามกรรมที่ได้ทำไว้ ส่วนเปรตเป็นเรื่องของการถูกทรมาน ด้วยการอดอยากหิวโหย เช่น การอดข้าวอดน้ำ เปรตบางชนิด ต้องกินหนองเลือด เสมหะ อุจจาระ เป็นอาหาร

ที่อยู่ของเปรต
เปรตไม่มีที่อยู่โดยเฉพาะ จะอยู่ทั่ว ๆ ไปตามป่า ภูเขา เหว เกาะ แก่ง ทะเล มหาสมุทร ป่าช้า เป็นต้น เปรต เป็นประเภทโอปปาติกกำเนิด ประเภทกายละเอียดที่ผลุดขึ้นโตทันที เราจึง มองไม่เห็น นอกจากเขาจะใช้พลังจิต กำหนดกายให้หยาบจึงจะมองเห็นได้

ชนิดของเปรต
เปรตมีหลายจำพวก มีทั้งพวกที่ตัวเล็ก ตัวใหญ่ บางพวกแปลงกายได้ เป็นเทวดา มนุษย์ผู้ชาย มนุษย์ผู้หญิง ดาบส พระ เณร หรือชี ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจว่า เป็นเทวดา เป็นชายหญิง หรือพระ เณร จริง ๆ เจตนาของการแปลงกาย ก็เพื่อจะช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้พบเห็นนั้น ส่วนการแปลงกายที่มุ่งจะทำร้าย ให้เกิดความเกรงกลัวเสียขวัญตกใจ ก็จะแปลงกายเป็น วัว ควาย ช้าง สุนัข มีทั้งสีดำ แดง เทา รูปร่างใหญ่โตน่าเกลียดน่ากลัว พระธุดงค์หรือผู้ปฏิบัติธรรมในป่า มักจะพบเห็นกันเสมอ ๆ

อาหารของเปรต
เปรตทั้งหลายต้องเสวยทุกขเวทนา คือการอดข้าวอดน้ำ เปรตบางพวกจึง เข้าไปกินเศษอาหารที่ชาวบ้านเขาทิ้งไว้ บางพวกกินเสมหะ น้ำลาย ของโสโครกต่าง ๆ ท่านได้กล่าวไว้ว่า เปรตที่อาศัยอยู่ตามภูเขา เช่น ที่ภูเขาคิชฌกูฎ นอกจากจะอดอาหารแล้ว ยังต้องถูกทรมานเหมือนสัตว์นรกด้วย

เปรตประเภทต่าง ๆ ตามที่พระอรรถกถา และพระคัมภีร์ แสดงไว้

แสดงเรื่องเปรตไว้ ๔ จำพวก คือ

๑.ปรทัตตุปชีวิกเปรต เป็นเปรตที่มีชีวิตอยู่ ด้วยการอาศัยส่วนบุญที่ญาติมิตร เขาอุทิศให้ ถ้าไม่มีผู้อุทิศให้ ก็ต้องอดอยากหิวโหย ได้รับทุกขเวทนาอยู่เช่นนั้น
๒.ขุปปีปาสิกเปรต เป็นเปรตที่อดอยาก หิวข้าวหิวน้ำอยู่เป็นนิตย์ ไม่มีเรี่ยวแรงแม้จะลุกขึ้น ต้องนอนแซ่วอยู่เหมือนคนป่วยที่ใกล้จะตาย
๓.นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นเปรตที่มีไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
๔.กาลกัญจิกเปรต เป็นเปรตจำพวกอสุรกาย หรือ อสุรา

ปรทัตตุปชีวิกเปรต
ประเภทเดียวเท่านั้นที่สามารถจะรับส่วนกุศลที่มนุษย์แผ่ไปให้ได้
เพราะอยู่ใกล้ๆ กับมนุษย์ และสามารถที่จะรู้ว่าเขาแผ่ส่วนกุศลให้ และอนุโมทนาส่วนบุญนั้น ถ้าไม่รู้หรือไม่ได้อนุโมทนา ก็ไม่ได้รับส่วนบุญที่ญาติมิตรแผ่ไปให้

พระโพธิสัตว์เมื่อได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้ว ถ้าจะเกิดเป็นเปรต ก็จะเกิดเป็นเปรตได้ประเภทเดียวเท่านั้นคือ ปรทัตตุปชีวิกเปรต เปรตอีก ๓ ชนิดที่เหลือ จะไม่ไปเกิด
เปรตปรทัตตุปชีวิกเปรตนี้ นับว่าเป็นเปรตที่โชคดีจำพวกเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถรับส่วนบุญกุศล ที่พวกญาติมิตรของตนอุทิศให้ เพราะมีอกุศลบางเบา จึงมีจิตยินดีที่จะอนุโมทนาส่วนกุศล โดยที่ตนมีความอยากข้าว และน้ำเป็นกำลัง จึงท่องเที่ยวซัดเซไปมา นึกถึงหมู่ญาติของตนว่า ใครอยู่ที่ไหนบ้าง เมื่อนึกได้ก็จะคอยอยู่ใกล้ ๆ คอยท่าอยู่ว่า
“เมื่อใดญาติของเรา จะทำบุญทำกุศลแล้วอุทิศมาให้เราบ้าง”
ครั้นญาติทำบุญทำกุศลแล้ว ลืมอุทิศให้ หรืออุทิศให้แต่คนอื่น ไม่ได้อุทิศให้ตน เขาก็จะเดินวนเวียนไปมา ด้วยใบหน้าหม่นหมอง เศร้าสร้อยด้วยความผิดหวัง บางทีก็มีความน้อยใจ ถึงกับเป็นลมฟุบสลบลงไป ด้วยความหิวโหย ด้วยความทรมาน และก็ได้แต่หวังอยู่อีกว่า “ครั้งต่อไป เขาคงไม่ลืมเรา เขาคงอุทิศให้แก่เราบ้าง ในครั้งต่อไป เขาคงไม่ลืมเรา เขาคงมีแก่ใจอุทิศให้แก่เราบ้าง” เปรตพวกนี้ได้แต่หวังอย่างนี้มาแสนนาน บางทีก็ได้สมประสงค์ บางทีก็ไม่ได้ตามประสงค์ เพราะพวกญาติมิตรที่ตนฝากความหวังไว้นั้น ไม่ประกอบการกุศล เพราะเป็นคนมิจฉาทิฏฐิ ไม่เชื่อบุญเชื่อบาป หรือว่าญาติมิตรเป็นคนมีศรัทธาทำบุญ แต่หลงลืมไม่อุทิศให้ เมื่อเป็นเช่นนี้เขาก็ย่อมไม่ได้รับผลบุญ ต้องทนทุกข์อดอยากหิวโหย อยู่นานแสนนาน



บรรดาเปรตทั้งหลาย ที่ได้กล่าวมาแล้ว เปรตที่มีโอกาสได้รับส่วนบุญจากผู้อื่นก็คือ ปรทัตตุปชีวิกเปรต เพราะอยู่ใกล้กับมนุษย์ ซึ่งเกิดอยู่ในบริเวณบ้านเรือนของญาติมิตรนั้น เนื่องจากเวลาใกล้จะตาย มีความห่วงใยอาลัยอาวรณ์ในทรัพย์สินเงินทอง ห่วงใยในสามีภรรยา ลูกหลานหรือมิตรสหาย เมื่อตายก็จะอยู่ในบริเวณบ้านเรือนนั้นเอง ที่เราเรียกว่า ผีหรือเปรต แม้ว่าจะอยู่ในบริเวณนั้นก็ดี ถ้าไม่รู้ว่าเขาอุทิศส่วนกุศลให้ และไม่มีโอกาสได้อนุโมทนาทาน ก็จะรับส่วนบุญที่เขาอุทิศมาให้ไม่ได้

ส่วนผู้ที่เกิดในนรก เปรตประเภทอื่น เช่น อสุรกาย เดรัจฉาน ซึ่งเกิดด้วยอำนาจของอกุศลกรรม ซึ่งอยู่ห่างไกลจากหมู่มนุษย์ ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้และอนุโมทนาในส่วนบุญที่เขาอุทิศมาเลย เช่น ญาติของตนตายแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ หรือสุนัขในบ้านของเรา แม้จะอุทิศส่วนกุศลให้ ก็ไม่สามารถจะรับส่วนกุศลนั้น ๆ ได้ แม้แต่ผู้ที่ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็เช่นเดียวกัน

บุญที่อุทิศให้แก่ญาติผู้ตายแล้วนั้น หากไม่ถึงหรือไม่สำเร็จ ก็ไม่สูญหายไปไหน คงเป็นบุญที่ติดตัวแก่ผู้อุทิศให้นั้น ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับความสุขความเจริญ ในชาติต่อ ๆ ไป


ในคัมภีร์ทั้งสองนี้ ได้แสดงเรื่อง เปรตที่อาศัยอยู่ ที่เชิงภูเขาหิมาลัยในป่าแห่งหนึ่ง ชื่อว่า วิชฌาฏวี มี ๑๒ จำพวก คือ
๑. วันตาสเปรต เปรตที่กินน้ำลาย เสมหะ และอาเจียน เป็นอาหาร
๒. กุณปาสเปรต เปรตที่กินซากศพคน หรือสัตว์ เป็นอาหาร
๓. คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระต่าง ๆ เป็นอาหาร
๔. อัคคิชาลมุขเปรต เปรตที่มีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ
๕. สูจิมุขเปรต เปรตที่มีปากเท่ารูเข็ม
๖. ตัณหัฏฏิตเปรต เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียน ให้หิวข้าวหิวน้ำอยู่เสมอ
๗. สุนิชฌามกเปรต เปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่เผา
๘. สัตถังคเปรต เปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้ายาวและคมเหมือนมีด
๙. ปัพพตังคเปรต เปรตที่มีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา
๑๐. อชครังคเปรต เปรตที่มีร่างกายเหมือนงูเหลือม
๑๑. เวมานิกเปรต เปรตที่ต้องเสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่กลางคืนได้ไปเสวยสุขในวิมาน
๑๒. มหิทธิกเปรต เปรตที่มีฤทธิ์มาก

แสดงเรื่องเปรตไว้ ๒๑ จำพวก คือ

๑. อัฏฐิสังขสิก เปรตที่มีกระดูกติดกันเป็นท่อน ๆ แต่ไม่มีเนื้อ
๒. มังสเปสิก เปรตที่มีเนื้อเป็นชิ้น ๆ แต่ไม่มีกระดูก
๓. มังสปิณฑ เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อน
๔. นิจฉวิริส เปรตที่ไม่มีหนัง
๕. อสิโลม เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์
๖. สัตติโลม เปรตที่มีขนเป็นหอก
๗. อุสุโลม เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู
๘. สูจิโลม เปรตที่มีขนเป็นเข็ม
๙. ทุติยสูจิโลม เปรตที่มีขนเป็นเข็มชนิดที่ ๒
๑๐. กุมภัณฑ เปรตที่มีลูกอัณฑะใหญ่โตมาก
๑๑. คูถกูปนิมุคค เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ
๑๒. คูถขาทกเปรตสเปรต เปรตที่กินอุจจาระ
๑๓. นิจฉวิตก เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง
๑๔. ทุคคุนธ เปรตที่มีกลิ่นเหม็น
๑๕. โอคิลินี เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ
๑๖. อสีส เปรตที่ไม่มีศีรษะ
๑๗. ภิกขุ เปรตที่มีรูปร่างเหมือนพระ
๑๘. ภิกขุณี เปรตที่มีรูปร่างเหมือนภิกษุณี
๑๙. สิกขมาน เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสิกขมานา
๒๐.สามเณร เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสามเณร
๒๑.สามเณรี เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสามเณรี


การที่มนุษย์ทั้งหลาย จะได้มีโอกาสไปอุบัติเป็นเปรต ต้องเสวยความทุกข์ทรมาน เพราะความอดอยาก ได้รับความหิวกระหายอย่างแสนสาหัสนั้น เนื่องจากบาปที่ตนได้กระทำไว้ ได้แก่ บาป ๑๐ ประการ เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่
การทำบาปทางกาย ๓ อย่าง คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม
การทำบาปทางวาจา ๔ อย่าง คือ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้สาระ
การทำบาปทางใจ ๓ อย่าง คือ โลภอยากได้ของเขา พยาบาทปองร้ายเขา และมิจฉาทิฏฐิ คือ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรมซึ่งบาปอกุศล ๑๐ ประการนี้ เมื่อตายไปแล้ว ก็ต้องไปเสวยทุกขเวทนาเป็นเปรต และยังสามารถที่จะนำไปสู่นรกภูมิได้ด้วย ซึ่งจะต้องได้รับความทุกข์ทรมาน จากนรกก่อน เมื่อสิ้นกรรมจากนรกแล้ว เศษบาปยังมี จึงจะต้องไปเกิดเป็นเปรตอีกในภายหลัง



สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ เทวดา หรือพรหม ที่ได้กระทำกรรมในส่วนที่เป็นบาป หรือในส่วนที่เป็นบุญก็ดี ผลของกรรมก็จะนำเกิดอีก ในภพใหม่ชาติใหม่ โดยจะเกิดนิมิต หรืออารมณ์ก่อนตาย ๓ ประการด้วยกัน คือ
๑. กรรมอารมณ์
ก่อนตายจะทำให้เราระลึกถึงบุญหรือบาป ที่ได้กระทำไว้ ให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น ตนเคยฆ่าเขาไว้ก็จะนึกถึงภาพ ที่ตนได้ฆ่าเขาไว้อย่างชัดเจน ใจก็จะเศร้าหมองหวาดกลัว เมื่อตายไปก็จะเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ในทำนองเดียวกันถ้าทำบุญไว้มาก ๆ เมื่อใกล้จะตาย ก็จะนึกถึงบุญที่ตนได้กระทำไว้ เช่น ทำบุญใส่บาตร ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร รักษาศีล เจริญภาวนา เมื่อตายลงก็ย่อมไปสู่สุคติ คือ ไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา กรรมอารมณ์นี้ เป็นนิมิตให้เกิดได้ เฉพาะในกามภูมิเท่านั้น
๒. กรรมนิมิตอารมณ์
คือการเห็นภาพเครื่องมือในการทำบาป หรือทำบุญ เช่น เคยฆ่าสัตว์ ก็จะเห็นเครื่องมือของการทำบาป เช่น ดาบ มีด ปืน แห อวน อาวุธต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องมือในการฆ่า อุปกรณ์เหล่านี้ จะเป็นภาพปรากฏให้เห็น เมื่อตายลงก็ย่อมไปสู่ทุคติ ในทำนองเดียวกัน เมื่อทำบุญ ก็จะเห็นเครื่องใช้ในการทำบุญ เช่นเห็นขันข้าว หรือทัพพี เห็นศาลาการเปรียญ เป็นต้น เมื่อตายลง ก็ย่อมไปสู่สุคติด้วยอำนาจของบุญนั้น หรือผู้เจริญภาวนา ถ้าได้ฌานก็จะไปเกิดเป็น พรหม
๓. คตินิมิตอารมณ์
ได้แก่ภาพซึ่งเป็นสถานที่ ที่ผู้ทำบุญหรือทำบาปไว้ จะต้องไปเกิดนั้นมานิมิตให้เห็นก่อนตาย เช่น เห็นหมู่สัตว์นรกกำลัง ถูกทรมาน เห็นไฟนรก เห็นหมู่เปรตที่หิวโหย เห็นหมู่สัตว์เดรัจฉาน เมื่อตายลง ก็ย่อมไปเกิดในสถานที่ ที่เห็นนั้นด้วยอำนาจของบาปที่ทำไว้ ถ้าเห็นเป็นวิมานเทวดา เห็นหมู่เทวดา หรือเห็นครรภ์ของมารดา เห็นมวลหมู่มนุษย์ที่กำลังทำบุญ ทำกุศลกัน เมื่อผู้นั้นตาย ก็จะไปเกิดเป็นเทวดา หรือมนุษย์ตามภูมิที่ได้เห็นนั้น
อารมณ์หรือนิมิตทั้ง ๓ เหล่านี้ย่อมปรากฏอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนที่บุคคลหรือสัตว์เหล่านั้นใกล้จะตาย นอกจากพระอรหันต์เท่านั้น ซึ่งไม่ต้องเกิดอีก ก็จะไม่มีนิมิตทั้ง ๓ ปรากฏให้เห็น



บุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ เมื่อเกิดมาแล้วได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่จะต้องชดใช้กรรม พร้อมกันนั้นก็จะต้องกระทำกรรมใหม่ขึ้นอีก ทั้งในส่วนที่เป็นบุญและเป็นบาป จึงได้จำแนกการดำเนินชีวิตของคนไว้ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ
๑. ทำบาปมากกว่าทำบุญ
๒. ทำบุญมากกว่าทำบาป
๓. ทำบุญกับทำบาปเสมอกัน

สำหรับบุคคลที่ทำบุญและทำบาปใกล้เคียงกัน เสมอกันนั้น เมื่อตายลง จะยังไม่ตรงไปเกิดในนรกภูมิ ด้วยอำนาจของอกุศลกรรม หรือตรงไปบังเกิดเป็นเทวดา ด้วยอำนาจของกุศลกรรมทันที ด้วยอำนาจแห่งความประมาท ที่ไม่ค่อยจะเชื่อบุญหรือเชื่อบาป เมื่อเขาตายลง ก็ย่อมจะได้ไปเกิดในแดนยมโลกนรก พบกับ ยมฑูต ย่อมจะถูกยมฑูตนำไปสู่สำนักของพญายมราช เพื่อให้พญายมราช ซึ่งเป็นใหญ่ในยมโลกนรก สอบถามถึงเทวทูต ๕ ประการเสียก่อน แล้วจึงจะเสวยผลกรรมดีหรือชั่ว ที่ตนได้กระทำไว้



เทวฑูตที่ ๑
พญายมราชผู้มีจิตกรุณาก็จะไต่ถามว่า “ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านเคยเห็นเด็กแดงๆ ยังอ่อนนอนแบเบาะ นอนเปื้อนมูตรคูถของตนบ้างไหม เห็นแล้วมีความรู้สึกอย่างไร ?”
ถ้าตอบว่า เห็น แต่ไม่มีความรู้สึกอย่างไร พญายมราชก็จะบอกให้ทราบว่าเจ้าเป็นผู้มีความประมาท ไม่กระทำความดีทาง กาย วาจา ใจ ไม่เคยคิดเลยหรือว่า การเกิดมานั้นเป็นทุกข์ ดังที่เห็นอยู่ เมื่อท่านประมาทเช่นนี้นายนิรยบาลจะทำการลงโทษท่าน พญายมราชก็จะปลอบใจผู้กระทำบาปเหล่านี้ โดยถามเป็นปัญหา
เทวฑูตที่ ๒
เมื่อพญายมราชได้ปลอบโยนเอาอกเอาใจแล้วก็ได้ถามปัญหาข้อที่ ๒ ว่า “ ดูกรท่านผู้เจริญ ท่าน เคยเห็นคนแก่ อายุ ๘๐, ๙๐, ๑๐๐ ปี หลังโก่งคดงอ ถือไม้เท้า เดินงกเงิ่น ผมหงอก หนังเหี่ยว ตกกระ ในหมู่มนุษย์บ้างไหม เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร” ถ้าตอบว่า เห็น แต่ไม่มีความรู้สึกอย่างไร พญายมราช ก็จะกล่าวชี้แจงให้ทราบว่าท่านเป็นผู้ประมาท ไม่พิจารณาเห็นโทษของความแก่ ไม่ขวนขวายในการทำบุญทำกุศล ตั้งอยู่ในความประมาท นายนิรยบาลจะลงโทษท่าน พญายมราชก็จะพูดปลอบใจและถามปัญหาต่อไป
เทวฑูตที่ ๓
พญายมราชจะถามว่า “ ท่านเคยเห็นคนป่วยไข้ ที่กำลังได้รับความทุกข์เวทนาบ้างหรือไม่ เมื่อเห็นแล้วรู้สึกอย่างไร ?” ถ้าตอบว่า เห็นแต่ไม่รู้สึกอย่างไร พญายมราชก็จะชี้แจงให้ทราบถึงเหตุผลว่า การเจ็บป่วยนั้นเป็นทุกข์ที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ จะต้องขวนขวายในการทำความดียิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท นายนิรยบาลจะลงโทษท่าน พญายมราชจะพูดปลอบใจเอาอกเอาใจ และถามปัญหาข้อที่ ๔ ต่อไป
เทวฑูตที่ ๔
พญายมราชได้ถามปัญหาด้วยจิตเมตตาต่อไปว่า “ ท่านเคยเห็นคนที่ถูกจองจำ เช่น โจร ผู้ร้าย ผู้กระทำผิด ซึ่งถูกทำการลงโทษด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การโบยด้วยแส้ โบยด้วยหวาย ตีด้วย กระบอง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดหูตัดจมูกบ้าง ตลอดจนยิงเป้า แขวนคอ นั่งเก้าอี้ไฟฟ้า หรือการฉีดสาร พิษเข้าสู่ร่างกายเพื่อให้เสียชีวิต บ้างหรือไม่ เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร ? ” ถ้าตอบว่า เห็นแต่ไม่รู้สึกอย่างไร พญายมราช จะชี้แจงให้ทราบว่าท่านเป็นผู้ตกอยู่ในความประมาท ไม่ขวนขวายในการทำบุญทำกุศล เพื่อให้พ้นจากวัฏฏทุกข์เหล่านี้ นายนิรยบาลจะลงโทษท่าน พญายมราชก็จะพูดปลอบโยน เอาอกเอาใจและถามปัญหาในข้อต่อไป
เทวฑูตที่ ๕
พญายมราชก็จะถามปัญหาว่า “ ท่านเคยเห็นคนตายบ้างหรือไม่ เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร ?” ถ้ายังตอบเหมือนเดิมอีก คือ เห็นแล้วไม่มีความรู้สึกอย่างไร และไม่ได้ขวนขวาย ในการที่จะกระทำคุณงามความดียิ่งๆ ขึ้น ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ตกอยู่ในความประมาท ซึ่งไม่ใช่เป็นความผิดของบิดามารดา ญาติพี่น้อง มิตรสหาย หรือเทวดาดลใจ แต่เป็นความผิดของท่านเอง นายนิรยบาลจะลงโทษท่าน เมื่อพญายมราชได้พูดปลอบใจแล้ว นายนิรยบาล ก็จะจับผู้ประมาทเหล่านั้นทำการจองจำ ๕ ประการด้วยกัน คือ ตรึงตะปูด้วยเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ตรึงตะปูด้วยเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๒ ตรึงตะปูด้วยเหล็กแดงที่เท้าข้างที่ ๑ ตรึงตะปูด้วยเหล็กแดงที่เท้าข้างที่ ๒ และตรึงตะปูที่ทรวงอกตรงกลาง สัตว์เหล่านั้นย่อมเสวยทุกขเวทนาแรงกล้า อยู่ในนรกนั้นแต่ก็ยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่หมดสิ้น


๓.ท่องแดนอสุรกาย
อสุรกายภูมิ เป็นภูมิของโอปปาติกกำเนิด อีกมติหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่
ของผู้ที่ทำบาปไว้และต้องไปเสวยผลของบาป มีชีวิตเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นฝืดเคือง ขาดเครื่องอุปโภคบริโภค ทุกข์ยากลำบาก กาย จิตใจหดหู่เหี่ยวแห้งไม่สนุกสนานรื่นเริง เข้าในลักษณะที่ว่าหน้าเศร้าอกตรม

อสุรกายภูมิ แบ่งออกเป็น ๓ พวกใหญ่ ๆ คือ
๑. เทวอสุรา ได้แก่ อสุรกายที่เป็น เทวดา
๒. เปติอสุรา ได้แก่ อสุรกายที่เป็นพวก เปรต
๓. นิรยอสุรา ได้แก่ อสุรกายที่เป็นสัตว์ นรก



เทวอสุรกาย คือ อสุรกายจำพวกเทวดา บางพวกก็พอจะมีความสุขอยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีความสุข


เทวอสุรกาย มีอยู่ ๖ พวกด้วยกัน คือ
๑. เวปจิตติอสุรกาย
๒. ราหุอสุรกาย
๓. สุพลิอสุรกาย
๔. ปหารอสุรกาย
๕. สัมพรตีอสุรกาย
อสุรกาย ๕ พวกนี้ อยู่ใต้ภูเขาสิเนรุ เป็นศัตรูกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีเรื่องเล่าว่า เดิมเคยอยู่บนชั้นดาวดึงส์ สมัยเมื่อมาฆะมานพ และบริวาร ๓๒ คน ขึ้นไปเกิดเป็นพระอินทร์พร้อมกับบริวาร ๓๒ คน(รวมกันเป็น ๓๓ ดาวดึงส์ แปลว่า ๓๓) ได้มีการฉลองกันเป็นการใหญ่ เมื่ออสุรกาย ๕ พวกนี้เมาสุราได้ที่ จึงถูกพวกพระอินทร์และบริวาร โยนลงจากยอดเขาสิเนรุ มาอยู่ใต้เขาสิเนรุจนกระทั่งทุกวันนี้ ทำให้อสุรกาย ๕ พวกนี้ แค้นเทวดาชั้นดาวดึงส์มาก และได้เคยยกพวกขึ้นเขาสิเนรุ ไปตีกับเทวดาชั้นดาวดึงส์หลายครั้ง บางครั้งก็ชนะบางครั้งก็แพ้ ซึ่งมีเรื่องเล่ายาวพอสมควร
๖. วินิปาติกอสุรกาย
เป็นพวกที่มีรูปร่างเล็ก มีอำนาจน้อยกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ อาศัยอยู่ในมนุษยโลกนี้ จะอยู่ตามป่า ตามเขา ตามต้นไม้ และตามศาลที่เขาปลูกไว้ เป็นบริวารของภุมมัฏฐเทวดา จัดสงเคราะห์เข้าในพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา



เปรตอสุรกาย คือ อสุรกายชนิดที่เป็นเปรต ซึ่งมีความเป็นอยู่ยากลำบากกว่าพวกอสุรกาย ที่เป็นเทวดา มีรูปร่างที่น่าเกลียดน่ากลัว
เปรตอสุรกาย แบ่งได้เป็น ๓ ชนิด คือ
๑. กาลกัญจิกเปรตอสุรกาย
เป็นพวกที่มีรูปร่างกายใหญ่โต แต่ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง มีเลือดฝาดน้อย มีสีสันคล้ายใบไม้แห้ง ตาโปนออกมาเหมือนตาปู มีปากเล็กเท่ารูเข็มอยู่บนกลางศีรษะ หิวน้ำอยู่ตลอดเวลา เดินหาน้ำอยู่ตามลำธารน้ำไหลกลางป่า ทั้ง ๆ ที่เดินท่องอยู่บนลำธารน้ำไหล แต่กลับมองเห็นน้ำที่ไหลมา ขาวเหมือนหินอ่อน ได้ยินเสียงน้ำไหลแต่มองไม่เห็นน้ำ เพราะกรรมบันดาลให้มองไม่เห็นน้ำ กินน้ำก็ไม่รู้จักอิ่ม เพราะปากเล็กเท่ารูเข็ม พระธุดงค์พบเข้าแม้จะช่วยกันกรอกน้ำใส่ปาก น้ำก็ไหลออกหมด เพราะเล็กเท่ารูเข็มเท่านั้น จึงต้องหิวโหยอยู่ตลอดเวลา
๒. เวมานิกเปรตอสุรกาย
เป็นเปรตชนิดที่เสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่เสวยสุข ในเวลากลางคืนเหมือนกับความสุขของเทวดาในชั้นดาวดึงส์ เพราะทำบุญกับบาปพร้อมกันไป เหมือนกับการฆ่าไก่ เพื่อถวายเป็นอาหารแก่พระธุดงค์ หรือการได้ทรัพย์มาโดยทางทุจริต แต่ก็นำเอาทรัพย์นั้น มาทำบุญใส่บาตรอีกต่อหนึ่ง
๓. อาวุธกเปรตอสุรกาย
เป็นเปรตชนิดที่ต้องประหัตประหารกันด้วยอาวุธ มีแต่ความไม่พอใจซึ่งกันและกันตลอดเวลา ซึ่งตรงกันข้ามกับ เทวดาชั้นดาวดึงส์ ที่มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน พวกนักเลงหัวไม้ หรืออันธพาลที่ชอบว่าจ้าง ให้ทำร้ายร่างกายหรือประหัตประหารผู้อื่น เมื่อสิ้นชีวิตลงจะต้องไปเสวยทุกข์ในนรก เมื่อพ้นจากนรกแล้วก็ต้องมาเสวย ทุกข์ทรมานด้วยการเป็นเปรตประเภทนี้อีก





นิรยอสุรกาย เป็นสัตว์จำพวกเดียวกัน ที่เกาะอยู่ตามขอบจักรวาลที่มืดมิด มีลักษณะเหมือนค้างคาว มีความหิวกระหายเป็นกำลัง เกาะไปพลาง ไต่ไปพลาง พอไปพบพวกเดียวกัน จะโผเข้าหากันเพื่อกินเป็นอาหาร ก็จะพลัดตกไปในน้ำกรดข้างล่าง ละลายหายไปทันที แล้วเกิดขึ้นมาใหม่ ตกตายไปอีกวนเวียนเช่นนี้ จนกว่าจะหมดกรรม

โดยสรุปแล้ว ในอสุรกายภูมินี้ ถ้าจะสงเคราะห์แล้วก็ จัดสงเคราะห์เข้าในเปรตภูมิ แต่พวกที่มีความเป็นอยู่เป็นพิเศษ ที่เป็นปฏิปักษ์ หรือเป็นศัตรูกับเทวดาชั้นดาวดึงส์เท่านั้น เรียกว่า อสุรกาย


๔.ท่องแดนเดรัจฉาน

เดรัจฉานภูมิ ชื่อว่าเป็นภูมิที่ขวางต่อมรรคผล คือหมดโอกาสที่จะทำบุญ ทำทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา ให้ถึงพระนิพพานได้ มีแต่จะสร้างบาปอกุศลกรรมอยู่ร่ำไป (นอกจากพระโพธิสัตว์) เช่น ผู้ที่เกิดเป็นเสือ จิ้งจก นก ฯลฯ มีชีวิตอยู่ได้ โดยอาศัยชีวิตผู้อื่น ตลอดชีวิตชาติหนึ่งภพหนึ่ง ได้กินหรือทำลายชีวิตสัตว์อื่น ไม่สามารถที่จะนับจำนวนได้



เดรัจฉานภูมิ ไม่มีที่อาศัยของตนเองโดยเฉพาะ คงอาศัยอยู่ในมนุษยโลกนี้

สัตว์เดรัจฉาน มีสัญชาตญาณหรือสัญญาแล้ว ๓ อย่าง คือ
๑. กามสัญญา รู้จักเสวยกามคุณ
๒. โคจรสัญญา รู้จักกินนอน
๓. มรณสัญญา รู้จักกลัวตาย

ส่วนธรรมสัญญา คือ รู้ดีรู้ชอบ รู้ผิดรู้ถูก รู้บุญหรือบาปอย่างมนุษย์นั้นไม่มี ยกเว้น สัตว์เดรัจฉานที่เป็นพระโพธิสัตว์ เช่น ช้าง พญาฉัตรทัณฑ์ มีธรรมสัญญาเหมือนกับมนุษย์

ในบรรดาสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายนั้น สัตว์บก สัตว์น้ำ หรือสัตว์มีปีก ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ เมื่อจำแนกแล้วแบ่งได้ ๔ อย่าง คือ
๑. อปทติรจฺฉาน ได้แก่ เดรัจฉานที่ไม่มีขาเลย เช่น ปลา งู ไส้เดือน เป็นต้น
๒. ทฺวิปทติรจฺฉาน ได้แก่ เดรัจฉานที่มี ๒ ขา เช่น นก เป็ด ไก่ เป็นต้น
๓. จตุปฺปทติรจฺฉาน ได้แก่ เดรัจฉานที่มี ๔ ขา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น
๔. พหุปฺปทติรจฺฉาน ได้แก่ เดรัจฉานที่มีขามากกว่า ๔ ขา ขึ้นไป เช่น ปู แมงมุม ตะขาบ กิ้งกือ เป็นต้น

บรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ย่อมไม่ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ที่มีขนาดเล็กกว่านกกระจาบ และใหญ่ไม่เกินกว่าช้าง

สัตว์เดรัจฉานโดยทั่วไป มีทั้งอดอยาก อ้วนพี มีความเดือดร้อน ที่มีสุขมากก็มีเหมือนกันแต่จำนวนน้อย ส่วนใหญ่จะมีความเดือดร้อนมาก แต่มีความสุขน้อย



ที่มา
www.buddhism-online.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น