วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553
การตักบาตร
เปิดปูมวิถีการตักบาตร ทำอย่างไรได้บุญ...เต็มร้อย
การตักบาตร คือ การถวายอาหารแด่พระภิกษุสามเณร รูปเดียวหรือหลายรูป จะปฏิบัติเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราวก็ได้ วัตถุประสงค์ของการตักบาตร นอกจากจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการให้ทาน เพื่อบูชาคุณแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้
1. ธำรงส่งเสริมและสืบทอดพระพุทธศาสนา
2. ส่งเสริมและบำรุงพระภิกษุสามเณร ผู้ทรงศีล ทรงธรรม
3. ส่งเสริมคุณความดีของผู้ปฏิบัติ ทั้งผู้ตักบาตรและพระภิกษุสามเณรผู้รับบิณฑบาตร
การตักบาตรจึงเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ เพราะเป็นการให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณร ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฎิบัติธรรมตามพระธรรมวินัย และสั่งสอนประชาชน เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบไป ทั้งนี้จะเป็นผลดีแก่ผู้ปฏิบัติด้วย เพราะทำให้เป็นผู้มีใจบุญกุศลและเป็นการส่งเสริมผุ้ทรงคุณธรรม
ประวัติการทำบุญตักบาตร
การทำบุญตักบาตรนี้ มีมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ๆ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงประทับที่สวนมะม่วง พระองค์เสด็จบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาต ก็ชวนกันนำอาหารมาตักบาตรเป็นครั้งแรก นับแต่นั้นมา การตักบาตรจึงถือเป็นประเพณีมาจนบัดนี้ และเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้เกด มีพ่อค้า 2 คน นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระพุทธองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร นี่ก็เป็นที่มาของการตักบาตรทางพระพุทธศาสนาด้วยประการหนึ่ง
บาตรเป็นภาชนะจำเป็นของพระภิกษุจะขาดเสียมิได้ นับเข้าในจำนวนบริขารอย่างหนึ่งในบริขาร 8 ตามปกติพระจะไปอยู่ที่ใด ต้องมีบาตรประจำตัวไปด้วย และการออกบิณฑบาตก็ออกในเวลาเช้า ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าองค์ ทรงบำเพ็ญเป็นพุทธกิจประจำวัน โดยปกติ พระภิกษุสามเณร จะเดินเรียงลำดับอาวุโสไปบิณฑบาตตามละแวกบ้าน เมื่อถึงหมู่บ้านที่ชาวบ้านกำลังรออยู่ ก็จะยืนเรียงเป็นแถว แต่ในกรุงเทพฯ หรือในบางจังหวัด พระภิกษุสามเณรมักไปตามลำพัง ไม่ได้เดินเรียงแถว ทั้งนี้เพราะพระภิกษุสามเณรในกรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมาก จึงไม่สะดวกที่จะเดินเรียงแถวกันไป และผู้ที่จะนำอาหารมาตักบาตรได้ไม่ครบทุกรูป
เมื่อพระภิกษุสามเณร ต้องออกบิณฑบาตตอนเช้าทุกวัน ชาวบ้านก็ตักบาตรทุกวัน แต่บางคนตักบาตรเฉพาะในรอบวันเกิดประจำปี และมักจะตักบาตรพระจำนวนเท่าอายุ หรือเกินกว่าอายุ ถ้าเป็นวันสำคัญทางศาสนา ก็มักจะพากันไปทำบุญตักบาตรที่วัด แต่บางคราวเช่นในเทศกาลปีใหม่ และตรุษสงกรานต์ จะมีการชุมนุมตามที่ที่กำหนดไว้ เช่น สนามหลวง พุทธมณฑล ในโรงเรียน ในสถาบัน หรือ ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง แล้วแต่จะนัดหมายกัน นอกจากนี้ยังมีการตักบาตรที่มีชื่อเฉพาะอีก เช่น ตักบาตรเทโว ตักบาตรข้าวสาร ตักบาตรดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น
วิธีปฏิบัติในการตักบาตร
โดยปกติพระภิกษุสามเณร จะเดินเรียงลำดับอาวุโส ไปบิณฑบาตตามละแวกบ้าน เมื่อถึงหมู่บ้านที่ชาวบ้านกำลังรออยู่ ก็จะยืนเรียงเป็นแถว แต่ในกรุงเทพฯ หรือในบางจังหวัด พระภิกษุสามเณรมักไปตามลำพัง ไม่ได้เดินเรียงแถว ทั้งนี้เพราะพระภิกษุสามเณรในกรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมาก จึงไม่สะดวกที่จะเดินเรียงแถวกันไป และผู้ที่จะนำอาหารมาตักบาตรได้ไม่ครบทุกรูป การตักบาตรเป็นสังฆทาน คือการถวายโดยไม่เจาะจง จึงควรตั้งใจว่าจะทำบุญตักบาตร แก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระพุทธศาสนา โดยไม่เจาะจงว่าเป็นรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อพระภิกษุสามเณรรูปใดผ่านมา ก็ตั้งใจตักบาตรแก่พระภิกษุสามเณรรูปนั้นและรูปอื่นๆ ไปตามลำดับโดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. จัดเตรียมอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะใส่ภาชนะเรียบร้อย มากหรือน้อยตามความต้องการ
2. นำอาหารที่เตรียมไว้ไปคอยตักบาตร ก่อนที่จะตักบาตรควรตั้งจิตถวายด้วยศรัทธา และความเคารพ ตั้งความปรารถนา เพื่อทำกิเลสให้ลดน้อยลงจนถึงหมดสิ้นไป
3. ขณะที่ตักบาตร ควรอยู่ในอาการสำรวมและเคารพ
4. เมื่อตักบาตรเสร็จแล้ว ควรแสดงความเคารพด้วยการไหว้
5. หลังจากตักบาตร ควรอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
คำอธิษฐาน ในการตักบาตรจะใช้ภาษาบาลี หรือภาษาไทยหรือใช้ทั้งสองภาษาก็ได้ ดังนี้
“สุทินนัง วะตะเม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ” ถอดความว่า “ทานของเราให้แล้วด้วยดี ขอจิตข้านี้จงสิ้นอาสวกิเลสเทอญ”
คำกรวดน้ำ แบบย่อ “อิทัง เม ญาตินัง โหตุ “ ถอดความว่า “ขอส่วนแห่งบุญกุศล จงสัมฤทธิ์ผลแก่ญาติข้าดั่งตั้งใจ “
ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น